ตะลุย ‘พบพระ’ รู้จักของดีตามหา ‘ข้าวเหนียวลืมผัว’

ตะลุย ‘พบพระ’ รู้จักของดีตามหา ‘ข้าวเหนียวลืมผัว’

เมื่อได้ออกเดินทางเรามักจะได้อะไรกลับมาติดไม้ ติดมือ ติดหัวใจเสมอ การท่องเที่ยวในครั้งนี้ก็เช่นกัน วันหยุดสบายๆ คู่มือคนเมือง “ไทยรัฐออนไลน์ ” มีโอกาสพาไปตะลุย อ.พบพระ ไปเกี่ยวข้าว และตามหา ข้าวเหนียวลืมผัว อยากรู้ว่าประสบการณ์การเกี่ยวข้าวสนุกแค่ไหน ประเพณีท้องถิ่นมีอะไรแฝงในนั้นอย่างไร ข้าวเหนียวชื่อนี้ได้แต่ใดมา ข้างล่างนี้มีคำตอบ…

พบพระ ไม่พบพระ!

ก่อนจะพาไปเที่ยว เราพาไปหาตามข้อมูลกันก่อน พบพระที่ว่าเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก ความสำคัญของอำเภอพบพระในทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญก็คือมันเป็นอำเภอที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเมย แม่น้ำพรมแดนสายสำคัญระหว่างไทยกับพม่า เป็นครั้งแรกที่เราได้ไปเยือน “พบพระ” ได้ยินครั้งแรกหลายคนคงคิดว่าเป็นอำเภอที่มีพระ มีวัดเยอะ แต่ไม่ได้เป็นแบบที่คุณคิด “พบพระ” มีอะไรมากกว่านั้น เราจะพาคุณไปรู้จักกับ “ข้าวลืมผัว” ข้าวเหนียวดำที่ได้ยินแค่ชื่อก็ต้องสะดุดหูแล้ว พาไปเกี่ยวข้าวในทุ่งนาสีเขียว ทั้งยังได้การเรียนรู้ประเพณีแบบฉบับชาวม้ง ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

ชาวบ้านชาวม้งชุดการแสดงๆเด็กๆชาวม้ง

ถึงแม้วันนั้นจะมีฝนตก มีเมฆมืดครึ้มตลอดทั้งวันแต่เราก็สามารถทำภารกิจ ส่งมอบโรงสีข้าวชุมชนจิราธิวัฒน์ใน อ.พบพระ ได้อย่างเรียบร้อย มีชาวบ้านมากมายมาต้อนรับพวกเรากันแน่นขนัด ทั้งยังมีการแสดงของเด็กๆ ในอำเภอเป็นชุดการแสดงชาวม้ง ทำให้เรายิ้มตามได้ไม่น้อย หลังจากนั้นชาวบ้านก็พาเราไปเรียนรู้ประเพณีกินข้าวใหม่ ของอำเภอแม่สอด

เมา – ไม่เมา ! ประเพณีกินข้าวใหม่-ดื่มเหล้าเขาวัว

ดื่มเหล้าเขาวัว

แปลกตา สิ่งที่คนเมืองแบบเราเห็นพูดได้แบบนั้น ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า ประเพณีนี้เป็นของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เป็นประเพณีกินข้าวใหม่-ดื่มเหล้าเขาวัว สืบสานวัฒนธรรมชาวม้ง ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน ได้ออกผล ผลิตและทำการเก็บเกี่ยวแล้วและจะต้องมีการเชิญผู้ที่ชาวม้งเคารพรัก นับถือ ไปร่วมการสืบสานประเพณี “กินข้าวใหม่ ดื่มเหล้าเขาวัว” ในช่วงข้าวใหม่ออกผลผลิต ในช่วงที่เรียกว่าปลายฝน ต้นหนาว ปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน ของทุกๆ ปี โดยผู้นำชาวม้งจะมีการนำข้าวใหม่ไปเชิญผู้ที่เคารพนับถือในท้องถิ่นหลายๆ ท่านเพื่อให้ไปร่วมงานประเพณีดังกล่าว

คุณยายแต่งชุดม้งแบบมาเต็ม

การสืบสานวัฒนธรรรมของชาวม้ง จะดำเนินการเป็นประจำทุกปี หลังการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อให้การทำนาข้าว ในปีต่อๆ ไปดี และมีผลผลิตผลงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการดื่มเหล้าเขาวัวนั้นก็เพื่อให้ผู้ชายชาวม้งได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กันหลังฤดูเก็บเกี่ยวและข้าวใหม่เริ่มออก การกินข้าวใหม่จะมีกับข้าว เช่น น่องไก่-หมู-เป็ด ประกอบการกินเพื่อเพิ่มความอร่อย จากนั้นก็จะมีการดื่มเหล้าเขาวัว ซึ่งการดื่มเหล้าเขาวัวนั้นตามประเพณีจะทำควบคู่กับกินข้าวใหม่ จะดื่ม 4 รอบ รอบแรกหมายถึงการร่วมโต๊ะ รอบสองเจ้าภาพแสดงการต้อนรับ รอบที่ 3 เข้าสู่ประเพณี รอบที่ 4 หมายถึงการผูกสัมพันธไมตรีอันลึกซึ้ง โดยเจ้าภาพจะเป็นผู้รินเหล้าให้แขกดื่ม

ชนหน่อยตามประเพณี

ข้าวคืออาหารหลักในการดำรงชีวิตของชาวม้ง จึงมีการจัดประเพณีขึ้นเพื่อเรียกขวัญข้าวและเซ่นไหว้ขอบคุณบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมทั้งเทวดาเจ้าที่เจ้าทางเพื่อปกป้องให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุขและปกปักรักษาพืชพันธุ์ที่ปลูกในรอบปีให้มีความอุดมสมบรูณ์ การกินข้าวใหม่นั้นจะมีการกินน่องไก่ เพื่อเสี่ยงทายโชคชะตาอีกด้วยเพื่อทำนายถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวและพืชผลในปีต่อไป ส่วนผู้หญิงจะไม่ดื่มเหล้า ข้าวใหม่ที่นำมากินนั้นจะมีการเลือกข้าวที่ยังมีน้ำนมประมาณ 20% เก็บเกี่ยวพอประมาณเพื่อรับแขกที่มากินข้าวใหม่ ซึ่งต้องเป็นข้าวจากที่นาของตัวเอง

ภาพน่ารักเห็นแล้วยิ้มตาม

ทำไมต้อง “ข้าวเหนียว” “ลืมผัว”?

หลังจากอิ่มอร่อยกับประเพณีกินข้าวใหม่แบบชาวม้งกันไปแล้ว นั่งย่อยพอสมควรแล้ว สถานีต่อไปได้เวลาลงพื้นที่ตามหาข้าวเหนียวลืมผัวสักที งานนี้มีอุปสรรคอีกแล้ว นั่นก็คือสายฝนที่โปรยปรายมาตลอดวัน เดี๋ยวตก เดี๋ยวหยุด แต่งานนี้ขอบอกว่าเราก็สู้ไม่ถอย ชาวบ้านได้พาเราไปหาข้าวเหนียวลืมผัวกันถึงทุ่งนา

ข้าวเหนียวลืมผัวข้าวเหนียวลืมผัวแปรรูปมาทำข้าวหลาม

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมชาวบ้านถึงเรียก ข้าวเหนียวดำพันธ์ุนี้ว่า “ข้าวเหนียวลืมผัว” นายสุเนตร แสงท้าว สมาชิกวิสาหกิจชุมชนข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว อ.พบพระ จ.ตาก เล่าให้เราฟังว่า คำว่า “ข้าวลืมผัว” มาจากการที่ผู้เป็นภรรยาซึ่งมีหน้าที่หุงหาอาหารเพื่อเลี้ยงคนในครอบครัวในวันที่นึ่งหรือหุงข้าวเหนียวดำ หรือข้าวเหนียวจะส่งกลิ่นหอมชวนรับประทานจนอดใจไม่ไหวผู้เป็นภรรยาจะลงมือรับประทานก่อนและรับประทานจนหมดไม่เหลือไว้ให้สามีได้รับประทานพอรู้ตัวอีกทีข้าวก็หมดแล้วทำให้สามีกลับมาจากไร่นาไม่ได้รับประทานข้าวจึงเป็นที่มาของคำว่า“ข้าวลืมผัว”

ข้าวลืมผัวเป็นข้าวนาปีพื้นเมืองเดิม ปลูกในสภาพไร่ บนภูเขาที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีต้นสูงประมาณ 137 เซนติเมตร ออกดอกประมาณวันที่ 15 กันยายน จำนวนเมล็ดดีต่อรวงเฉลี่ย 130 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างอ้วน น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 37.9 กรัม สถิติผลผลิตสูงสุดเมื่อปลูกในสภาพไร่และฟ้าอากาศตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ 490 กก./ไร่ เมื่อนำมาปลูกในพื้นที่ราบ ผลผลิตที่ได้อยู่ระหว่าง 200-300 กก./ไร่ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว มีสีเปลือกหุ้มเมล็ดเปลี่ยนไปตามระยะการเจริญเติบโตของเมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ด (pericarp) เป็นสีม่วง ที่เรียกกันว่า “ข้าวเหนียวดำ” หรือ “ข้าวก่ำ” เป็นข้าวกล้องข้าวเหนียวที่มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกมันและนุ่มแบบหนุบๆ

ข้าวเหนียวลืมผัวข้าวเหนียวแปรรูป

การบริโภคทำได้ทั้งแบบข้าวเหนียวรับประทานกับอาหาร ผสมข้าวต้มทำให้มีสีม่วงอ่อนสวยงาม ทำเป็นขนมแบบข้าวเหนียวเปียกก็ได้อีกเหมือนกัน จะมีสีคล้ายทับทิมสวยงาม คุณค่าทางโภชนาการก็ดีเยี่ยมอย่าบอกใครเชียว มีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอลได้ ยังไม่พอเพียงแค่นี้ข้าวเหนียวลืมผัว บรรเทาอาการขาดภาวะเอสโตรเจนของวัยทองและช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว…ข้าวเหนียวลืมผัว

ทำความรู้จักกับข้าวเหนียวลืมผัวแล้ว ได้เวลายืดเส้นยืดสายกันสักที เมื่อพบกับทุ่งนาสีเขียวสุดลูกหูลูกตา เราก็ค่อนข้างจะตื่นเต้นกันอยู่ไม่น้อย ก่อนลงมือเกี่ยวข้าวเราไม่พลาดขอแชะรูปกับทุ่งนากันสักนิดพอหอมปากหอมคอ เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว ชาวบ้านก็ได้สอนให้เราเรียนรู้วิธีเกี่ยวข้าวโดยการใช้เคียว

สดชื่น เขียวขจี

กล้าๆ กลัวๆ เก้ๆ กังๆ กลัวทั้งเคียวเกี่ยวข้าว และกลัวจะไปทำข้าวของชาวบ้านเสียหายด้วย เราไม่เคยจับเคียวมาก่อนเลยในชีวิต ชาวบ้านสอนเราว่า ขั้นตอนแรกต้องถือเคียวด้วยมือข้างที่ถนัด แล้วใช้เคียวเกี่ยวกระหวัดกอข้าวทีละกอ ในขณะเดียวกันก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับกอข้าวนั้น และออกแรงดึงเคียวให้คมเคียวตัดลำต้นข้าวให้ขาดออกมา โดยทั่วไปจะเกี่ยวให้มีความยาวของต้นข้าวห่างจากรวงข้าว ให้พอเหมาะที่จะนำไปฟาดข้าวได้สะดวก หรือให้มีความยาวของต้นข้าวพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปได้ เมื่อเกี่ยวข้าวได้เต็มกำมือแล้ว บางคนจะมัดข้าวเป็นมัดๆ ก่อนวางตากแดด แต่บางคนก็วางตากเลยโดยไม่มัด นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในเบื้องต้น 

เมื่อเกี่ยวข้าว สีข้าวเสร็จแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บเมล็ดพันธุ์ เราควรเก็บไว้ปีต่อปี ถ้าสีเป็นข้าวเปลือกแล้วไม่อยู่ในที่ชื้นจะอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน และข้อควรระวังในการเก็บคือ อย่านำมาใกล้กับของมักดอง เช่นเหล้า ของเค็ม เปียก จะทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่งอกหรือขี้นเลย ห้ามนำมาทำพันธุ์ไปปลูก ส่วนเรืองของราคา ถ้าเป็นข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 25-30 บาท และถ้าข้าวที่สีแล้วประมาณกิโลกรัมละ 60 บาท (ถ้าเป็นถังก็ประมาณ 800 – 900 บาท )

เรียนรู้การเกี่ยวข้าว

ยังไม่พอเท่านี้ เรายังได้เรียนรู้วิธีการหุงข้าวลืมผัวกันแบบถูกต้องอีกด้วย จะมีวิธีการอย่างไร ต้องลอง!

1. ไม่ต้องแช่ ซาวน้ำเร็วๆ 1 ครั้ง

2. สำหรับหม้อหุงข้าวปกติใสข้าว 1 ถ้วย ต่อน้ำ 2 ถ้วย หรือตามชอบ

3. สำหรับหม้อหุงข้าว Slow Cook ใส่ข้าว 1 ถ้วย เติมน้ำ 1/2 ถ้วย เมื่อข้าวสุก ให้ทิ้งไว้ 10 นาที เพื่อให้ข้าวอยู่ตัว ให้ทำเป็นข้าวปั้นญี่ปุ่นได้ เป็นอย่างดี อ่อนนุ่มทิ้งไว้ให้เย็น

“คนม้งไม่มีเงินใช้ไม่เป็นไร แต่ต้องมีข้าวกินตลอดปี” ประโยคนี้เราได้ยินจากปากของชาวบ้าน ทั้งรู้สึกประทับใจและประหลาดใจในคราวเดียวกัน ในช่วงเวลานั้นเราคิดอะไรหลายๆอย่างได้เหมือนกัน ทั้งยังได้ย้อนกลับมามองตัวเองว่าทุกวันนี้เราต้องการอะไร แค่ไหน พอหรือยัง ? 

หลังจากที่คนเมืองอย่างเราๆได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติของทุ่งนาสีเขียวแบบใกล้ชิด ทั้งยังได้ลงแรงลงมือ เรียนรู้วิธีเกี่ยวข้าวที่ถูกวิธี ในระหว่างทางนั้นก็ได้เจออะไรอีกมากมายเช่นกัน “ได้อะไรกลับมามากกว่าที่คิดไว้” นี่คือสิ่งที่เราอยากบอกกับทุกคนหลังจากไปเยือนพบพระมาแล้ว

หลายอย่างประทับใจ ทำให้ช่วงเวลาที่เราคิดถึงได้อมยิ้มน้อยๆ หลายอย่างเราได้เรียนรู้วัฒนธรรม ได้รู้จักผู้คน ทั้งความเป็นกันเองของชาวบ้านในอำเภอพบพระ การเรียนรู้ประเพณีต่างๆของชาวม้ง การทำความรู้จักกับข้าวชื่อสะดุดหู และบรรยากาศของธรรมชาติที่แสนจะสดชื่น มีทั้งไอแดด กลิ่นดิน ออกซิเจน เรียกได้ว่าเป็นอากาศที่คนเมืองถวิลหากันตลอดเวลา นี่ก็คือเสน่ห์ของพบพระ ที่เราหวังว่าคุณต้องมาเยือนสักครั้งในชีวิต.

http://www.thairath.co.th/content/464763

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *